วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความรับผิดของบิดามารดา ผู้อนุบาล มาตรา 429

มาตรา 429

บิดามารดาของผู้เยาว์และผู้อนุบาลของผู้วิกลจริต ต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ หรือผู้วิกลจริตในผลละเมิดที่ผู้เยาว์หรือผู้วิกลจรติได้กระทำ เว้นแต่บิดามารดาหรือผู้อนุบาลจะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

*ต้องเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้มาตรา 430

ให้ผู้อื่นยืมรถยนต์ เกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้ให้ยืมไม่ต้องรับผิดร่วม

ฎีกาที่ 5549-5550/2541

การที่ น. รำรถยนต์ที่จำเลยให้ยืมเพื่อไปรับเงินที่จำเลยให้ยืมจากภรรยาจำเลยนั้นมิใช่เป็นการทำแทนจำเลย แต่เป็นการทำเพื่อกิจการและประโยชน์ของ น. เองเท่านั้น น. จึงมิใช่ตัวแทนของจำเลย เมื่อ น. ขับรถยนต์ไปเฉี่ยวกับรถจักรยานยนต์ระหว่างทางที่ไปเอาเงินจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ น. ได้กระไปดังกล่าว

นายจ้างมีสิทธิไล่เบี้ยลูกจ้าง มาตรา 426

ฎีกาที่ 4431/2547

นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ.มาตรา 426 ชอบที่จะได้รับการชดใช้จากลูกจ้างเฉพาะค่าสินไหมทดแทนที่ได้ใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปเท่านั้น ค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ใช้ให้แก่ทายาทผู้ตายเป็นความรับผิดตามคำพิพากษาอันเกิดจากการดำเนินคดีระหว่างโจทก์กับทายาทของผู้ตาย และโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดี จึงไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว

ลูกจ้างให้ผู้อื่นขับรถแทน นายจ้างก็ต้องร่วมรับผิด

ฎีกาที่ 2739/2532

            ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ลูกจ้างและผู้ขับรถของจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้ขับขี่รถยนต์ของจำเลยที่ 3 ด้วยตนเอง แต่ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับขี่รถเพื่อนำไปเก็บ แม้จำเลยที่ 2 จะชับขี่ออกนอกเส้นทางหลังจากชนท้ายรถ ท. ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ขับรถแทนตน และอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 และถือว่า ขณะเกิดเหตุ เป็นการกระทำของลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วย
             เมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถเฉี่ยวชนท้ายรถของ ท. โดยประมาทเลินเล่อแล้วหลบหนีไป ท.ได้ชับรถตามจำเลยที่ 2 ไปทันทีทันใด เพื่อเจรจาทำความตกลงในเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้น แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถหนีไปติดสัญญาณไฟแดงไม่ยอมลงมาจากรถมาเจรจาด้วย และขับรถหนีต่อไป ท.จึงกระโดดขึ้นไปเกาะรถที่จำเลยที่ 2 ขับ ทางด้านขวาของคนขับ จำเลยที่ 2 จึงขับรถกระชากอย่างแรงเป็นเหตุให้ ท.ตกลงมาสู่พื้นถนน แล้วถูกรถที่จำเลยที่ 2 ขับทับถึงแก่ความตายนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจากรถเฉี่ยวชนในตอนแรกไม่อาจที่จะแยกการกระทำของจำเลยที่ 2 ออกจากกันได้ กรณีถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเกี่ยวเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้ให้จำเลยที่ 2 ขับรถไปเก็บและอยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิด
     

ผู้รับจ้างฟ้องผู้ว่าจ้างผิดสัญญาจ้างทำของ

ฎีกาที่ 6314/2550

เมื่อโจทก์ทำงานงวดที่สองชำรุดบกพร่องไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้าง และจำเลยได้ให้โจทก์แก้ไขให้เรียบร้อยก่อนแต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมแก้ไข โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยถือว่าเป็นการเลิกกันโดยปริยาย สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานงวดที่สองให้จำเลยเสร็จแล้วจึงไม่อาจให้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม จำเลยต้องใช้เงินค่าก่อสร้างในงวดที่สองให้แก่โจทก์แทน จำเลยไม่มีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างเสียทั้งหมด เมื่องานของโจทก์มีสิ่งบกพร่องและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์แก้ไขสิ่งบกพร่องให้เป็นไปตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยชอบที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการแก้ไขสิ่งบกพร่องดังกล่าวได้ โดยโจทก์จะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 594 และจำเลยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเท่าที่เสียไปจากค่าจ้างของงานงวดที่สองเท่านั้น
เหตุที่โจทก์ทำงานบกพร่องเนื่องจากจำเลยขอเปลี่ยนแบบ ขยายห้องนอนให้กว้างขึ้น ใช้วัสดุผิดจากแบบแปลน ทำให้โครงเหล็กรับน้ำหนักมากกว่าแบบทำให้โค้งงอ จำเลยต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าวด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ว่าจ้างบุคคลใดให้ทำการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงกำหนดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคคลภายนอกแก้ไขข้อบกพร่องตามความเหมาะสมได้


วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง

มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น

รถหายห้างสรรพสินค้าต้องร่วมรับผิดกับ รปภ.

ฎีกาที่ 11605/2553

พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 มอบบัตรจอดรถซึ่งด้านหน้าระบุว่าต้องเสียค่าจอดรถชั่วโมงละ 10 บาท และหากทำบัตรจอดรถหายจะต้องถูกปรับ 200 บาท โดยต้องนำหลักฐานการเป็นเจ้าของรถมาแสดงให้แก่โจทก์ และยินยอมให้โจทก์นำรถเข้าไปจอดในลานจอดรถของห้าง ฯ จำเลยที่ 2 เมื่อคนร้ายลักรถยนต์โดยขับรถฝ่าพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วยความเร็วไม่คืนบัตรจอดรถให้ แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อแจ้งเหตุหรือสกัดจับ กลับรอจนกระทั่งโจทก์กลับมาจึงแจ้งให้ทราบ การกระทำของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 จึงเป็นละเมิด และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกับรับผิดชำระค่าทรัพย์สินที่อยู่ภายในรถยนต์ดังกล่าวด้วย เนื่องจากเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อ

ห้างต้องรับผิดร่วมกับ รปภ.

ฎีกาที่ 5259/2551

รถยนต์ของโจทก์ไม่มีบัตรติดรถยนต์เข้าออกอาคารชุดติดหน้ารถยนต์ตามระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 พนักงานรักษาความปลอดภัยจะต้องดำเนินการแลกบัตรหรือให้แจ้งชื่อ ที่อยู่ของผู้ขับรถยนต์ที่จะผ่านเข้าออกอาคารชุด คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยบริเวณป้อมยามของทางเข้าออกอาคารชุด มิได้เรียกให้หยุดรถเพื่อแลกบัตรหรือให้ผู้ขับรถยนต์แจ้งชื่อ ที่อยู่ตามระเบียบ กลับปล่อยให้รถยนต์ของโจทก์แล่นผ่านออกไปอันเป็นเหตุให้รถยนต์สูญหายเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องของจำเลยที่ 4 เป็นการประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 

วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หญิงยินยอมร่วมประเวณีกับชาย ไม่เป็นละเมิด

ฎีกาที่ 576/2488

หญิงยินยอมร่วมประเวณีกับชายโดยถูกชายหลอกลวงว่าจะเลี้ยงดูเป็นภริยานั้น ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อหญิง หญิงจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้

สัญญาเช่าสิ้นสุดลง แต่ไม่ยอมออก ผู้ให้เช่าตัดน้ำ ตัดไฟได้

ฎีกาที่ 1523/2535

จำเลยไม่ชำระค่าเช่าตามสัญญาและเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าจำเลยยังคงครอบครองอู่ที่เช่าโดยไม่มีสิทธิที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ชอบที่จะตัดไม่ให้จำเลยใช้น้ำประปาเพื่อบรรเทาความเสียหายที่โจทก์ได้รับอยู่ได้ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

แม้สัญญาเช่าที่ดินสิ้นสุดแล้ว พืชไร่ที่ปลูกก็เป็นของผู้เช่า

ฎีกาที่ 17095/2555

โจทก์ทำไร่ปลูกต้นอ้อยโดยอาศัยสิทธิของ ม. ผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่าและต้นอ้อยเป็นไม้ล้มลุก จึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ทั้งสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับ ม. ก็ไม่มีข้อความใดระบุให้ต้นอ้อยหรือตออ้อยเป็นสิทธิของ ม. หลังจากสัญญาเช่าเลิกกัน ดังนั้น การที่ ม.ขายที่ดินให้แก่ ล. ไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์ในต้นอ้อยตกไปเป็นของ ล. แม้ ล.เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินก็ไม่มีอำนาจที่จะตัดตออ้อยของโจทก์โดยพลการ จำเลยซึ่งกระทำไปตามคำสั่งของ ล. ต้องรับผิดฐานละเมิดหรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าความเข้าใจของจำเลยเป็นไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ เมื่อจำเลยทราบดีว่าตออ้อยไม่ใช่ทรัพย์สินของ ล. แม้จะเป็นการกระทำโดยคำสั่งของ ล. เจ้าของที่ดิน ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของโจทก์โดยไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและจำเลยต้องรับผิดในผลที่เกิดจากการกระทำของตน

วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ใช้เด็กขึ้นขย่มกระท้อน จนได้เรื่อง

ฎีกาที่ 3571/2525

จำเลยใช้ผู้เยาว์อายุ 9 ปีเศษขึ้นขย่มให้ผลกระท้อนหล่นจากต้น โดยงดเว้นมิได้คอยตักเตือนมิให้ผู้เยาว์ทำงานมากเกินไป ผู้เยาว์ขย่มต้นกระท้อนอยู่ครึ่งชั่วโมง เป็นเหตุให้ร่างกายอ่อนเพลีย แขนไม่มีกำลังที่จะยึดเหนี่ยวกิ่งไว้ได้ตกลงมาตาย เป้นการกระทำละเมิดต่อผู้เยาว์และผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้เยาว์ด้วย

ผู้เช่ามีหน้าที่แค่ซ่อมแซมเล็กน้อยเท่านั้น

ฎีกาที่ 989/2549

ตามสัญญาเช่ากำหนดให้ผู้เช่าต้องรักษาซ่อมแซมสถานที่เช่ารวมทั้งสิ่งตกแต่งและเครื่องอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยตลอดระยะเวลาเช่าด้วยทุนทรัพย์ของผู้เช่าเองนั้น หมายถึงการบำรุงรักษาตามปกติและซ่อมแซมเล็กน้อยเท่านั้น มิได้กำหนดให้ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมใหญ่แต่อย่างใด เมื่อได้ความว่าอาคารที่เช่าเสียหายมาก ยากที่จะซ่อมแซมให้กลับคืนได้ ต้องรื้อถอนและปลูกสร้างขึ้นใหม่ และถึงแม้ว่าจะต้องทำการซ่อมแซมโครงสร้างของอาคารกับฐานรากบางส่วนและทำการหล่อเสาเพิ่มขึ้น รวมทั้งซ่อมแซมโครงอาคารภายนอก ส่วนความเสียหายภายในซึ่งมีมากได้รื้อถอนออกแล้วก่อขึ้นใหม่ ความเสียหายดังกล่าวก็เป็นกรณีร้ายแรงต้องซ่อมแซมใหญ่ซึ่งไม่ใช่หน้าที่และความรับผิดของผู้เช่าตาม ป.พ.พ.มาตรา 553 หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่าที่จะต้องจัดการซ่อมแซมทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อให้โจทก์ที่ 2 ได้ใช้และได้รับประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ในการเช่า การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการละเมิดต่อ ส.เจ้าของอาคารที่โจทก์ที่ 2 เช่า โจทก์ที่ 2 ผู้เช่าไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การซื้อขายสินค้ามีกำหนดระยะเวลาชำระเงิน

ฎีกาที่ 808/2533

การซื้อขายสินค้ามีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ 60 วัน นับแต่วันที่ส่งมอบสินค้า เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าโจทก์จะได้ทวงถามก่อนแล้วหรือไม่

ถือว่าเลิกสัญญากันโดยปริยาย

ฎีกาที่ 8188/2554

เมื่อกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ตามที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตรงกับวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม 2547 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจดำเนินการขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ และในวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2547 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการดังกล่าวเช่นกัน จึงยังถือไม่ได้ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญา และสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยโจทก์ผู้จะซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่จำเลยผู้จะขาย ส่วนจำเลยผู้จะขายมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ผู้จะซื้อ เมื่อไม่ปรากฎว่าภายหลังจากวันดังกล่าวคู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้มีการเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน จึงถือว่าคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย และเมื่อสัญญาเป็นอันเลิกกันคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำที่รับไว้แก่โจทก์

ฎีกาที่ 2571/2529

ฎีกาที่ 2571/2529

จำเลยรับจ้างกรมอาชีวศึกษาโจทก์ก่อสร้างบ้านพักครู แต่จำเลยผิดสัญญาไม่ทำการก่อสร้างเลย โจทก์บอกเลิกสัญญา เมื่อตามสัญญาจ้างระบุว่า ถ้าจำเลยส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวัน ดังนี้ เป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้สำหรับกรณีจำเลยส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งมีความ หมายอยู่ในตัวว่าจะใช้บังคับเฉพาะในกรณีที่จำเลยได้ลงมือทำงานแล้ว แต่การก่อสร้างนั้นไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา ส่วนกรณีที่จำเลยไม่ชำระหนี้เลยหรือไม่ลงมือทำการก่อสร้างเลย สัญญามิได้กำหนดเบี้ยปรับเอาไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะปรับจำเลยตามสัญญาจ้างได้

ฎีกาที่ 566/2551

ฎีกาที่ 566/2551

จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ภายในกำหนด เพราะวิกฤติเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โครงการของจำเลยที่ 1 หยุดชะงัก ไม่มีเงินหมุนเวียนที่จะนำไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ มาตรา 378(3) พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด

ฎีกาที่ 1092/2509

ฎีกาที่ 1092/2509

เงินมัดจำที่ยังไม่ได้ชำระ เมื่อสัญญาเลิกแล้วจะบังคับให้ส่งเงินไม่ได้ เพราะสัญญาได้สิ้นสุดความผู้พันแล้ว เงินมัดจำจะริบได้ต้องมีการส่งมอบกันแล้ว ถ้าไม่มีการส่งมอบก็ไม่ใช่มัดจำ ริบไม่ได้

ฎีกาที่ 2519/2549

ฎีกาที่ 2519/2549

ขณะทำสัญญาผู้รับจ้างนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร น.มามอบให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นหลักประกันปฏิบัติตามสัญญษ โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาผู้ว่าจ้างมีสิทธิริบหลักประกัน  ส่วนหนังสือสัญญาค้ำประกันระบุว่าธนาคารยอมผูกพันชำระเงินให้ในกรณีผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหาย เงินตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่จำเลยมอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเงินประกันค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญา ทั้งหนังสือค้ำประกันก็จำกัดวงเงินสูงสุดไว้ มิใช่ว่าธนาคารจะต้องผูกพันชำระเต็มจำนวนตามหนังสือค้ำประกันเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับความเสียหายหรือจำนวนค่าปรับว่ามีเพียงใด จำนวนเงินที่ริบจึงไม่แน่นอนตายตัว การริบเงินดังกล่าวจึงมิใช่การริบในลักษณะที่เป็นเงินมัดจำ แต่เป็นการริบในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับ

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

มัดจำ

ฎีกาที่ 7122/2549

คำว่า มัดจำ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 377 คือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ไว้ในวันอื่น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระบุว่าในวันทำสัญญาโจทก์ผู้จะซื้อได้วางมัดจำไว้ส่วนหนึ่งเป็นเงิน 10,000 บาทส่วนที่เหลือจำนวน 914,000 บาท จะชำระเป็นงวดรายเดือน จำนวน 10 เดือน ดังนั้น เงินที่วางมัดจำไว้ในวันสัญญาจึงมีเพียง 10,000 บาท เท่านั้น ส่วนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยอีก 10 งวด เป็นเงิน 170,000 บาท นั้น แม้ตามสัญญาจะระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำก็ไม่ใช่เงินจำตามความหมายดังกล่าว แต่เป็นเพียงการชำระราคาที่ดินบางส่วน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 10,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378(2) ส่วนเงินที่โจทก์ชำระค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าว จำเลยต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 แต่การที่โจทก์และจำเลยตกลงให้ริบเงินดังกล่าวได้ตามสัญญา ข้อ 13 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 ถ้าสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

มัดจำ

ฎีกาที่ 4917/2554

            มัดจำที่ได้ให้แก่กันไว้เป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาได้ทำกันขึ้นแล้วและเป็นประกันการที่ปฏิบัติตามสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 นั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันไว้เมื่อเข้าทำสัญญาในวันทำสัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันภายหลังวันทำสัญญา ดังนั้น เงินจำนวน 200,000 บาท ที่โจทก์ผู้จะซื้อได้ชำระให้แก่จำเลยผู้จะขายในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเท่านั้นที่เป็นมัดจำ ส่วนเงินจำนวน 800,000 บาท ที่โจทก์ชำระแก่จำเลยภายหลังทำสัญญาดังกล่าวนั้นมิใช่มัดจำ แต่เป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วน
            เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 200,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378 (2) ส่วนเงินจำนวน 800,000 บาท ที่โจทก์ชำระแก่จำเลย ซึ่งเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนตามสัญญานั้น จำเลยต้องให้โจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมโดยต้องคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง จำนวน 800,000 บาท ดังกล่าวมิใช่มัดจำที่จำเลยจะมีสิทธิริบเพราะเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ซื้อของในราคาแพงกว่าความเป็นจริง

ฎีกาที่ 1559/2524

จำเลยมีเจตนาที่จะซื้อเครื่องใสสันทากาวอยู่แล้ว โจทก์กับ อ.เจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมกันทำกลฉ้อฉลในการที่โจทก์เสนอขายเครื่องใสสันทากาวให้จำเลย แต่ทำเพื่อให้จำเลยต้องซื้อของในราคาแพงกว่าความเป็นจริงเท่านั้น จึงเป็นแต่กลฉ้อฉลเพื่อเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 123 จำเลยจะบอกล้างสัญญาซื้อขายที่เดียวหาได้ไม่ ได้แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทน ซึ่งได้แก่จำนวนเงินที่จำเลยต้องจ่ายเกินไปกว่าราคาอันแท้จริงในขณะนั้น

ผู้รับจ้างกำหนดราคาวัสดุก่อสร้างสูงเกินไปมาก

ฎีกาที่ 6103/2548

โจทก์ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมานจาน 8 ปี ย่อมทราบราคาโดยประมาณของวัสดุก่อสร้างได้ดี แต่โจทก์กลับกำหนดราคาเอาแก่จำเลยที่ 2 สูงกว่า ราคาที่แท้จริงถึงประมาณเจ็ดเท่า จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์คิดกำไรในทางการค้าโดยปกติ ทั้งการที่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาก่อสร้างอาคารโดยไม่ระบุจำนวนเงินบางฉบับ และระบุจำนวนเงินสูงกว่าความเป็นจริงอย่างมากในบางฉบับ โดยอ้างว่าเพื่อนำไปแสดงต่อธนาคารให้ได้รับอนุมัติสินเชื่อในวงเงินสูง อีกทั้งโจทก์ยังทำการแก้ไขสัญญาโดยพลการเพื่อให้จำเลยจ่ายวัสดุเพิ่มขึ้น ย่อมชี้ชัดว่าโจทก์มีพฤติกรรมส่อไปในทางไม่สุจริตโดยถือโอกาสจากการที่จำเลยที่ 2 ไม่มีความรู้ด้านก่อสร้างและให้ความไว้วางใจโจทก์ จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาว่าจ้างโจทก์โดยถูกโจทก์ทำกลฉ้อฉล แต่เป็นเพียงกลฉ้อฉลเป็นเหตุจูงใจให้จำเลยที่ 2 ยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่จำเลยที่ 2 จะยอมรับโดยปกติเท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิเพียงแต่เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการฉ้อฉล ซึ่งได้แก่ราคาว่าจ้างส่วนที่จำเลยที่ 2 ได้ชำระเกินไปกว่าราคาว่าจ้างอันแท้จริงในขณะนั้น

ทำสัญญาซื้อขายที่ดินอำพรางการกู้ยืมเงิน

ฎีกาที่ 1050/2536

เมื่อสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงิน นิติกรรมซื้อขายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ มาตรา 118 วรรคแรก และต้องบังคับตามนิติกรรมการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตามมาตรา 118 วรรคสอง และย่อมถือว่าสัญญาซื้อขายเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลย จึงมีผลบังคับได้

คนวิกลจริต คนไร้ความสามารถ

ฎีกาที่ 5466/2537

คำว่า บุคคลวิกลจริตตามบทบัญญัตไว้ใน ป.พ.พ มาตรา 29 เดิม (มาตรา 28 ใหม่) นั้น มิได้หมายเฉพาะถึงบุคคลผู้มีจิตผิดปกติ หรือตามที่เข้าใจกันทั่วๆไปว่าเป็นบ้าเท่านั้นไม่ แต่หมายความรวมถึงบุคคลผู้มีกิริยาอาการผิดปกติเพราะสติวิปลาส คือ ขาดความรำลึก ขาดความรู้สึกและขาดความรับผิดชอบด้วย เพราะบุคคลดังกล่าวนี้ไม่สามารถประกอบกิจการของตนหรือประกอบกิจการส่วนตัวได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จ.ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถนั้นไม่รู้สึกตัวเอง และพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็ฯโรคสมองฝ่อหรือสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ตลอดจนไม่อาจปฏิบัติภารกิจส่วนตัวได้ แสดงให้เห็นว่า จ.เป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะไจ้ความสามารถที่จะดำเนินกิจการทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเองได้ พอถือได้ว่าเป็นบุคคลวิกลจริตตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว และผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของ จ. ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกของ จ.ผู้ร้องจึงสมควรเป็นผู้อนุบาล จ.

ข้อห้ามในการประกอบอาชีพ

ฎีกาที่ 1275/2543

ข้อตกลงที่ว่าในระหว่างการจ้างงานหรือภายใน 5 ปีนับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง จำเลยจะต้องไม่ทำงานให้แก่บริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์หรือมีหุ้นในบริษัทคู่แข่งทางการค้าของโจทก์ ซึ่งครอบคลุมถึงประเทศไทยและประเทศอื่นอีก 4 ประเทศ เป็นเพียงข้อจำกัดห้ามการประกอบอาชีพแข่งขันกับโจทก์ โดยจำกัดประเภทของธุรกิจไว้อย่างชัดเจน มิได้ห้ามประกอบอาชีพปิดทางทำมาหาได้ของจำเลยอย่างเด็ดขาด และจำเลยสามารถประกอบอาชีพ หรือทำงานในบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายสินค้าหรือบริการอื่นๆที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงได้ ขอบเขตพื้นที่ก็ห้ามเฉพาะในกลุ่มประเทศในแหลมอินโดจีน มิได้รวมถึงประเทศไกล้เคียงอื่นๆด้วย ลักษณะของข้อตกลงนี้ไม่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดทีเดียว เพียงแต่เป็นการห้ามประกอบอาชีพบางอย่างที่แข่งขันกับโจทก์ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีที่ชอบในเชิงของธุรกิจ ไม่เป็นการปิดทางทำมาหาได้ ของฝ่ายใดโดยเด็ดขาดจนไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ

การโอนใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการ

ฎีกาที่ 608/2527

การได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้รับอนุญาตจะโอนสิทธิตามใบอนุญาตให้ผู้อื่นหาได้ไม่ สัญญาโอนกิจการใบอนุญาตเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน

การซื้อขายที่ธรณีสงฆ์

ฎีกาที่ 3688/2549

เจ้าของเดิมอุทิศที่ดินให้แก่วัดโจทก์ตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องกระทำตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 คือโอยพระราชบัญญัตืหรือพระราชกฤษฎีกา แม้ที่ดินดังกล่าวจะได้มีการทำนิติกรรมและจดทะเบียนโอนต่อกันมาหลายทอดจนถึงจำเลย เมื่อมิได้กระทำตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการโอนที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150 โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยออกจาที่ดินซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ๆได้โดยหาจำต้องฟ้องเจ้าของเดิมและผู้รับโอนคนก่อนจำเลยไม่

การซื้อขายที่ดินห้ามโอน ผลเป็นโมฆะ

ฎีกาที่ 6399/2551

โจทก์ทราบดีมาแต่แรกว่าขณะทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทนั้นมีข้อกำหนดห้ามโอน 10 ปี แต่โจทก์ก็ยอมตนเข้าผูกพันทำสัญญาดังกล่าวซึ่งมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่โจทก์ชำระเงินมัดจำไป 400,000 บาท จึงเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 411 โจทก์จึงไม่อาจเรียกมัดจำ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้...