วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2558

คำพิพากษาฎีกาที่ 7460/2556

คำพิพากษาฎีกาที่ 7460/2556

การต่อเติมและซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างซึ่งชำรุดทรุดโทรมให้เหมาะแก่การอยู่อาศัยโดยปลอดภัย ไม่ได้เป็นการก่อสร้างขึ้นใหม่ เมื่อคำนึงถึงค่าแรงและค่าวัสดุก่อสร้างที่ใช้แล้วไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมใหญ่ การที่จำเลยปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นการกระทำขึ้นเพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าจากโจทก์ร่วม ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาที่จะทำให้จำเลยมีสิทธิยิ่งไปกว่าการเช่าได้เมื่อโจทก์ร่วมผู้ให้เช่าและโจทก์ผู้รับโอนทรัพย์สินที่เช่าไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อหลังจากสัญญาเช่าครบกำหนด โดยมีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมให้รื้อถอนส่วนที่ต่อเติมออกไปเมื่อครบกำหนดการเช่าแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท
           แม้ขณะโจทก์ร่วมประสงค์จะขายที่ดินได้แจ้งให้จำเลยทราบโดยให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิซื้อก่อนก็เป็นเพียงการเปิดโอกาสให้จำเลยในฐานะผู้เช่า ไม่ใช่ข้อผูกมัดว่าโจทก์ร่วมต้องปฏิบัติตามทั้งคำมั่นในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดหรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง เมื่อเป็นคำมั่นด้วยวาจาจำเลยย่อมไม่อาจบังคับให้โจทก์ร่วมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยได้ แม้โจทก์ทราบข้อตกลงเช่นว่านั้นก็ถือไม่ได้ว่าการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมกับโจทก์เป็นไปโดยไม่สุจริต นิติกรรมการซื้อขายจึงเป็นไปโดยชอบ ไม่อาจเพิกถอนได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 891/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 891/2557

คำกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องที่ว่า "พวกมันมีเหี้ย 7 ตัว " หรือ "มันเป็นสามานย์" แม้เป็นการกล่าวกระทบถึงโจทก์ทั้งเจ็ดแต่ก็ไม่ใช่การนำความเท็จหรือข้อความที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับตัวโจทก์ทั้งเจ็ดมากล่าว หากแต่เป็นการด่าโจทก์ทั้งเจ็ดด้วยความรู้สึกเกลียดชังว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี โดยเปรียบเทียบเหมือนสัตว์ซึ่งไม่ใช่เป็นการนำข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงมากล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กล่าวไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 423 แต่การพูดปราศรัยด้วยถ้อยคำตามฟ้องต่อประชาชนที่มาฟังการชุมนุม ณ ที่เกิดเหตุนั้น ประชาชนที่ฟังย่อมรู้สึกได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี ไม่เหมาะสม แก่ตำแหน่งประธานสภาหรือสมาชิกเทศบาล อันเข้าลักษณะเป็นการละเมิดต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 420 ซึ่งทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียชื่อเสียงอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดและจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558

คำพิพากษาฎีกาที่ 5268/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 5268/2557

จำเลยให้การว่า บริษัท ม.คู่สัญญาปฏิเสธความรับผิด แสดงว่าหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยขอหักกลบลบหนี้ บริษัท ม. คู่สัญญาไม่ยอมรับ จึงเป็นหนี้ที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะนำหนี้ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักกลบลบหนี้ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 344 จำเลยเป็นหนี้ค้างชำระค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสารบริษัท และบริษัท ม. แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบแล้ว การโอนหนี้จึงสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้โดยตรง

คำพิพากษาฎีกาที่ 7114/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 7114/2557

ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยขอยืมโฉนดที่ดินของโจทก์เพื่อนำไปใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแต่ต้องให้จำเลยเข้าไปมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินโดยจำเลยมิได้มีเจตนาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินกับโจทก์ ต่อมาจำเลยนำที่ดินของจำเลยไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันแทนที่ดินของโจทก์ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจึงมอบโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยและอนุมัติให้จำเลยไปไถ่ถอนจำนองได้ แต่จำเลยไม่ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์พร้อมคืนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ จึงเป็นเรื่องของการฟ้องเพื่อติดตามเอาทรัพย์คืนในฐานะเจ้าของทรัพย์สินที่ได้ให้จำเลยยืมโฉนดที่ดินไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ แม้โจทก์จะอ้างว่านิติกรรมที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินเป็นการแสดงเจตนาลวงและเป็นนิติกรรมอำพรางกับมีคำขอให้บังคับให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมใดๆที่จำเลยได้กระทำขึ้นต่อมาหลังจากนั้นโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 อันจะทำให้มีกำหนดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 240

คำพิพากษาฎีกาที่ 4205/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 4205/2557

จำเลยยังไม่ชำระค่าหุ้นตามฟ้องแก่จำเลยร่วมและจำเลยร่วมไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้แก่โจทก์ และผู้ชำระบัญชีของจำเลยร่วมขัดชืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 233

คำพิพากษาฎีกาที่ 8811/2556

คำพิพากษาฎีกาที่ 8811/2556

สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับ ส.ไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้ โจทก์ย่อมเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และถือเป็นเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันทำสัญญากู้เงิน และแม้ ส. ถึงแก่ความตาย ก่อนที่โจทก์ทวงถามก็ไม่อาจใช้อายุความทั่วไปเพราะสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกยังไม่ถึงกำหนดเวลาบังคับ เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนถึงกำหนดนั้นเจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่ได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายวันที่ 1 ธันวาคม 2548 และโจทก์อยู่ช่วยงานศพด้วย แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ส. ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 25541 พ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ โจทก์รู้ถึงการตายของ ส. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้...