วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฎีกาที่ 3536/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 3536/2557

         บันทึกคำให้การที่โจทก์ได้จัดทำขึ้นต่อพนักงานตรวจแรงงานเมื่อได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยมีข้อความระบุว่าโจทก์ขอยุติเรื่องแต่เพียงนี้ และจะไม่ร้องทุกข์ ร้องเรียนที่ใด หรือเรื่องใดๆ อีก ถือได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องใดๆ เกี่ยวกับการเลิกจ้างอีก ซึ่งรวมถึงค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมอีกไม่ได้

ฎีกาที่ 4916/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 4916/2557

          โจทก์ทำนิติกรรมขายฝากที่ดินให้แก่จำเลย เพราะโจทก์เชื่อถ้อยคำของ ร. ซึ่งเป็นบุตรของตนเพราะ ร. เป็นผู้ดำเนินการที่สำนักงานที่ดินโดยโจทก์ไม่ได้สอบถามผู้เกี่ยวข้องและเจ้าพนักงานในสำนักงานที่ดินให้กระจ่างชัดเสียก่อน การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดของโจทก์จึงเกิดขึ้นโดยความประมาทเงินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เอง โจทก์จะถือเอาความสำคัญผิดนั้น มาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 158 เป็นผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามฟ้อง

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฎีกาที่ 712/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 712/2557

จำเลยประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินทราบดีว่าที่ดินมีแนวสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านไม่อาจปลูกสร้างบ้านในที่ดินเต็มเนื้อที่ เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องบอกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องแนวสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านที่ดินจนไม่อาจปลูกสร้างบ้านในที่ดินได้เต็มเนื้อที่แก่ลูกค้าซึ่เป็นผู้บริโภคแต่ไม่มีการบอกแก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของที่ดินจนเป็นเหตุให้โจทก์สำคัญผิดว่าที่ดินใช้ปลูกสร้างบ้านได้เต็มพื้นที่ แม้ก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จ.พนักงานบริษัทจำเลยพาโจทก์ไปดูที่ดินซึ่งโจทก์สังเกตเห็นสายไฟฟ้าแรงสูงตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินก็ตาม แต่โจทก์ได้รับคำชี้แจงว่าสายไฟฟ้าติดตั้งไว้นานหลายปีแล้ว และที่ดินสามารถปลูกสร้างบ้านตามแบบบ้านได้ โจทก์จึงทำสัญญาจองซื้อที่ดินและวางเงินมัดจำและทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แสดงว่าโจทก์ไม่ทราบว่าที่ดินมีสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านไม่อาจปลูกสร้างบ้านได้เต็มเนื้อที่ การที่โจทก์ไม่ทราบข้อเท็จจริงไม่อาจถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์เพราะโจทก์ได้รับคำยืนยันว่าสามารถปลูกสร้างบ้านบนที่ดินได้ นับได้ว่าโจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยของผู้บริโภคในพฤติการณ์เช่นนั้นแล้ว ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาจะซื้อจะขายโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของที่ดินด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ.มาตรา 158 ประกอบมาตรา 157 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอันเกิดจากความสำคัญผิดของโจทก์ในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งเป็นสาระสำคัญตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ.มาตรา 157 ชอบที่โจทก์จะบอกล้างโดยบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ต้องถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก โจทก์และจำเลยผู้เป็นคู่สัญญาย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับไว้จากโจทก์

ฎีกาที่ 766/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 766/2557

บริษัท อ. ดำเนินกิจการคลินิกและว่าจ้างให้โจทก์ปรับปรุงตกแต่งภายในอาคารโดยจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ มิได้ว่าจ้างในนามบริษัท อ. จึงมีลักษณะเป็นตัวแทนของตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อ จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงตาม ป.พ.พ.มาตรา 154 เว้นแต่ตัวการที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงให้ปรากฎและเข้ารับเอาสัญญาใดๆซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตน จำเลยจึงจะหลุดพ้นความรับผิดเป็นส่วนตัว แต่ตัวการหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนได้ไม่ตามมาตรา 806 บริษัท อ.ซึ่งเป็นตัวการได้แสดงตนให้ปรากฎเข้ารับเอาข้อตกลงว่าจ้างที่จำเลยทำกับโจทก์ และโจทก์ทราบเรื่องที่บริษัท อ. แสดงตนให้ปรากฎเข้ารับเอาข้อตกลงว่าจ้างที่จำเลยทำกับโจทก์ก่อนฟ้องจำเลยแล้ว จึงถือว่าบริษัท อ. เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์มีจำเลยเป้นตัวแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดเป็นส่วนตัว

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฎีกาที่ 4569/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 4569/2557

สัญญาจ้างแรงงานข้อ 11 ระบุประเภทกิจการที่ลูกจ้างจะไม่ประกอบกิจการหรือเข้าทำงานหลังจากที่ลูกจ้างได้ออกจากงานของโจทก์ไว้ว่า "กิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้าง" ส่วนการเข้าทำงานกับบุคคลหรือนิติบุคคลใดก็ระบุไว้ว่า "มีสภาพการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้าง" อันเป็นการห้ามเฉพาะสิ่งที่เป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์และเฉพาะส่วนงานที่จำเลยเคยทำกับโจทก์ ทั้งกำหนดเวลาที่ห้ามไว้ก็มีเพียง 2 ปี นับแต่จำเลยออกจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์ ไม่เป็นการตัดโอกาสการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมด ประกอบกับจำเลยมีตำแหน่งเป็นถึงผู้ช่วยผู้จัดการเขตการขายต่างประเทศและธุรกิจการค้าของโจทก์ต้องอาศัยการแข่งขัน โจทก์มีสิทธิป้องกันสงวนรักษาข้อมูลและความลับในทางการค้าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์ได้ สัญญาจ้างแรงงานข้อ 11 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและเป็นประโยชน์ของคู่กรณีในเชิงการประกอบธุรกิจโดยชอบ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 150  

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฎีกาที่ 1880/2542

คำพิพากษาฎีกาที่ 1880/2542

คำว่า โทรศัพท์ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนอธิบายว่าโทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้าแล้วส่งกระแสไฟฟ้าให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง สัญญาณโทรศัพท์จึงเป็นกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากเสียงพูดเคลื่อนที่ไปตามสายลวดตัวนำจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การที่จำเลย ลักเอาสัญญาณโทรศัพท์จากตู้โทรศัพท์แห่งประเทศไทยไปใช้ เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เช่นเดียวกับการลักกระแสไฟฟ้า

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฎีกาที่ 2531/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 2531/2557

ส. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของ ส. ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1599 โจทก์ทั้งสองเป็นบตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ส. เป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทตามมาตรา 1603 ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่เพื่อติดตามเอาคืนที่พิพาท ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ได้ เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายแล้วย่อมไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆได้ตามมาตรา 149 นิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 1 กระทำขึ้นหลังจาก ส. ถึงแก่ความตายจึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ถือเสมือนว่าไม่ได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดกของ ส. อยู่ตามเดิมมิได้เป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิใดๆในที่ดินพิพาท ไม่มีสิทธิจดทะเบียนการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ไม่มีสิทธิจะขาย จึงไม่มีสิทธิใดๆในที่ดินพิพาทและไม่มีสิทธิเอาที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่ผู้ใดได้ การที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เกิดผลให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิตามนิติกรรมจำนองแม้จำเลยที่ 3 อ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้จำเลยที่ 3 กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาทของ ส.

ฎีกาที่ 774/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 774/2557

แม้โรงพยาบาลส่งสำเนาบันทึกประวัติการรักษาคนไข้ให้แก่สำนักงานของจำเลยสาขาอุบลราชธานี แต่สำนักงานของจำเลยสาขาอุบลราชธานี ไม่มีอำนาจพิจารณาบอกล้างประกันชีวิตได้ ทั้ง ก.ผู้รับเอกสารเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสินไหมของจำเลย มิได้เป้นผู้มีอำนาจกระทำการแทนหรือเป็นตัวแทนของจำเลยในการทำความเห็นเกี่ยวกับอาการป่วยของ บ. ผู้ตายการที่ ก. ได้รับสำเนาบันทึกประวัติการรักษาของ บ. จะถือว่าจำเลยได้ทราบข้อมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมแล้วหาได้ไม่
         สำนักงานของจำเลยสาขาอุบลราชธานี ต้องส่งสำเนาบันทึกประวัติการรักษาของ บ. ไปยังสำนักงานใหญ่ของจำเลย แสดงว่าสำนักงานสาขาอุบลราชธานี ไม่มีอำนาจพิจารณาบอกล้างสัญญา ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินใหมทดแทนของจำเลยยังทำความเห็นว่าสมควรบอกล้างสัญญาทั้งฉบับเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2558 ศ. ผู้จัดการส่วนสินใหมของจำเลยทำความเห็นในวันเดียวกันว่าควรบอกล้างสัญญาตามเสนอ และ ม.ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยทำความเห็นให้บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ถือได้ว่าจำเลยโดย ม. ได้ทราบข้อมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมในวันที่ 19 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ได้รับรายงานของ ศ.ผู้จัดการส่วนสินใหมของจำเลย

           บ.รู้อยู่ว่าตนเป็นโรคเกาต์เรื้อรังและโรคความดันโลหิตสูงมาก่อนทำสัญญาประกันชีวิตแต่ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงที่อาจจูงใจให้จำเลยปฏิเสธไม่ทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นย่อมทำให้สัญญาประกันชีวิตระหว่าง บ. กับจำเลยเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ.มาตรา 865 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาประกันชีวิตภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่จำเลยทราบข้อมูลอันจะบอกล้างได้ตามมาตรา 865 วรรคสอง สัญญาประกันชีวิตระหว่าง บ. กับจำเลยจึงเป็นโมฆะจำเลยไม่ต้องชดใช้ค่าสินใหมทดแทนตามสัญญาแก่โจทก์

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฎีกา 1734/2515

ฎีกาที่ 1734/2515

ผู้ที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็ค แม้ตนเองจะมิใช่เจ้าของบัญชีเช็คนั้น ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงซึ่งนำเช็คนั้นไปรับเงินไม่ได้

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การโอนสิทธิการเช่า

ฎีกาที่ 1248/2538

บันทึกการเปลี่ยนแปลงผู้เช่าจาก ส.ผู้เช่าเดิม มาเป็นจำเลย ผู้เช่่าใหม่ ในหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวหน้าแรกระบุไว้ว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่า จำเลยในฐานะผู้เช่าใหม่ และ ส. ในฐานะผู้เช่าเดิมได้ลงลายมือชื่อ รับทราบการเปลี่ยนแปลงผู้เช่าตึกแถวแล้ว ถือได้ว่าโจทก์และ ส. ได้บอกกล่าวการโอนและให้ความยินยอมการโอนสิทธิการเช่า ตึกแถวเป้นหนังสือตาม ป.พ.พ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง การโอนสิทธิการเช่าตึกแถวจึงสมบูรณ์
           แม้หนังสือสัญญาเช่าตึกแถวระหว่างโจทก์กับ ส. จะได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มาก่อน แต่ก็ไม่มีกฎหมายบังคับให้การเปลี่ยนแปลงผู้เช่าจากผู้เช่าเดิมมาเป็นผู้เช่าใหม่ต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหนังสือสัญญาเช่ารับทราบด้วย แม้โจทก์จำเลย หรือ ส.ไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้เช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมบันทึกเปลี่ยนแปลงผู้เช่าก็สมบูรณ์ จำเลยย่อมต้องผูกพันต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาเช่า เมื่อจำเลยผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฎีกาที่ 2369/2557

คำพิพากษาฎีกาที่ 2369/2557

               นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคลมีเพียงหน้าที่ในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดที่เกิดเหตุ รวมทั้งมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ตามข้อบังคับและมติของเจ้าของร่วมตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4, 17, 33, 36 และ 37 ซึ่งข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 3 ระบุว่า จำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและให้มีอำนาจกระทำการใดๆ ตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพักอาศัยและการใช้ทรัพย์ส่วนกลางร่วมกัน สัญญาที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยก็มีข้อความระบุชัดเจนว่า จำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเท่านั้น จึงไม่รวมไปถึงรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ในความครอบครองของ ส. ด้วย
               แม้ภายหลังจำเลยที่ 3 ทำสัญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยแก่บรรดาทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ได้แจ้งระเบียบรักษาความปลอดภัยซึ่งได้มาจากการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินจากคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและเจ้าของร่วม เช่น การตรวจสอบสติกเกอร์ที่ติดรถยนต์ การรับบัตอนุญาตจอดรถยนต์และการตรวจสอบการขนของเข้าออกอาคารตามระเบียบรักษาความปลอดภัย แต่เป็นเพียงมาตรการให้เกิดความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยในอาคารชุด ทั้งเป็นการควบคุมผู้ใช้สอยอาคารจอดรถซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลางในอาคารชุดมิให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ หาได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์ส่วนบุคคลของผู้ใด เพราะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เช่นว่านั้นจึงไม่ก่อให้เกิดหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ในอันที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์อันเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของผู้เป็นเจ้าของร่วมทั้งสัญญาที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยยังมีลักษณะเป็นการทำแทนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทุกคนในอาคารชุดรวม ทั้ง ส. ผู้ครอบครองรถยนต์ของโจทก์ด้วย เงินที่ใช้ในการว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก็มาจากเงินที่เจ้าของร่วมทุกคนชำระเป็นเงินกองทุนและเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของร่วมในการว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัย จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้...