วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

ฎีกาที่ 2523/2556

ฎีกาที่ 2523/2556

จำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินพิพาทมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นการประกันหนี้ แต่จำเลยที่ 1 นำความเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินจนมีการออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 1 นำใบแทนโฉนดที่ดินไปทำนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทและขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 อันเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมอยู่ในฐานะที่จะรู้ว่านิติกรรมที่ทำขึ้นส่งผลให้โจทก์เสียเปรียบได้ก็ตาม แต่เหตุดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะเพิกถอนการฉ้อฉลได้ ตาม ป .พ.พ. มาตรา 237 ซึ่งจำเป็นต้องได้ความอีกว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้ลาภงอกมาจากการทำนิติกรรมดังกล่าวได้รู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบด้วย เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2ไม่สุจริต โดยรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและนิติกรรมจำนองที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้การที่โจทก์ยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไว้ ก็มิได้ก่อให้เกิดสิทธิใดๆ เหนือที่ดินพิพาท สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ถูกฉ้อฉลนั้น ป.พ.พ. มาตรา 237 บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะมาร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมเสียได้ ส่วนใบแทนโฉนดนั้นไม่ใช่นิติกรรม การเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเป็นเรื่องของผู้มีสิทธิในที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อโจทก์มิได้เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินจึงไม่อาจเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทได้





ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็ปไซต์ศาลยุติธรรม


วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2558

การไต่สวนมูลฟ้อง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
การไต่สวนมูลฟ้อง
มาตรา 162  ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา (2)

(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

       ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าว แล้วถ้าจำเลยให้การรับสารภาพให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา



วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2558

การควบคุมตัว


การควบคุมตัว

มาตรา 86  ห้ามมิให้ใช้วิธีควบคุมผู้ถูกจับเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เขาหนีเท่านั้น

มาตรา 87  ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี
ในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น

                 ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำ ตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา 83 เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้

                 ในกรณีความผิดอาญาที่ได้กระทำลงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียวมีกำหนดไม่เกินเจ็ดวัน
                 ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวันในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน
                  ในกรณีตามวรรคหกเมื่อศาลสั่งขังครบสี่สิบแปดวันแล้ว หากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขังต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะสั่งขังต่อไปได้ก็ต่อเมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนได้แสดงถึงเหตุจำเป็น และนำพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวนจนเป็นที่พอใจแก่ศาล

                   ในการไต่สวนตามวรรคสามและวรรคเจ็ด ผู้ต้องหามีสิทธิแต่งทนายความเพื่อแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยาน ถ้าผู้ต้องหาไม่มีทนายความเนื่องจากยังไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรา 134/1 และผู้ต้องหาร้องขอ ให้ศาลตั้งทนายความให้ โดยทนายความนั้นมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 134/1 วรรคสาม โดยอนุโลม

                     ถ้าพนักงานสอบสวนต้องไปทำการสอบสวนในท้องที่อื่นนอกเขตของศาลซึ่งได้สั่งขังผู้ต้องหาไว้ พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขอให้โอนการขังไปยังศาลในท้องที่ที่จะต้องไปทำการสอบสวนนั้นก็ได้ เมื่อศาลที่สั่งขังไว้เห็นเป็นการสมควรก็ให้สั่งโอนไป

การค้นตัวบุคคล

มาตรา ๙๓ ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด

ผู้มีอำนาจค้น

มาตรา ๙๗ ในกรณีที่ค้นโดยมีหมาย เจ้าพนักงานผู้มีชื่อในหมายค้นหรือผู้รักษาการแทนซึ่งต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีขึ้นไปเท่า นั้นมีอำนาจเป็นหัวหน้าไปจัดการให้เป็นไปตามหมายนั้น

การค้นโดยไม่มีหมายค้น

มาตรา ๙๒ ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น และในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน หรือมีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐานนั้น

(๒) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน

(๓) เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น

(๔) เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน

(๕) เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตามมาตรา ๗๘

การใช้อำนาจตาม (๔) ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้ค้นส่งมอบสำเนาบันทึกการตรวจค้นและบัญชีทรัพย์ที่ได้จากการตรวจค้น รวมทั้งจัดทำบันทึกแสดงเหตุผลที่ทำให้สามารถเข้าค้นได้เป็นหนังสือให้ไว้แก่ผู้ครอบครองสถานที่ที่ถูกตรวจค้น แต่ถ้าไม่มีผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้น ให้ส่งมอบหนังสือดังกล่าวแก่บุคคลเช่นว่านั้นในทันทีที่กระทำได้ และรีบรายงานเหตุผลและผลการตรวจค้นเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป

เหตุออกหมายค้น

มาตรา 69  เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีดั่งต่อไปนี้
(1) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา

(2) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด

(3) เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

(4) เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ

(5) เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว




*****ต้องมีหมายจับด้วยหากขอค้นเพื่อพบบุคคล

เหตุออกหมายจับ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66

มาตรา 66 เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
            ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

กรณีจับไม่ได้แม้จะมีหมายจับก็ตาม

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 81 ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน

อายุของหมายจับ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 68 หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความ หรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน

กรณีออกหมายจับบุคคลที่ไม่รู้จักชื่อ

มาตรา 7 จะออกหมายจับบุคคลที่ยังไม่รู้จักชื่อก็ได้ แต่ต้องบอกรูปพรรณของผู้นั้นให้ละเอียดเท่าที่จะทำได้

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558

การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์

ฎีกาที่ 1981/2556

ท.ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบางส่วนของที่ดินที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดย สงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ท.ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง เมื่อ ท.ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในปี 2547 และโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาโดยตลอดมิได้ขาดตอนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แสดงว่า ท.เจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครอง และย่อมนับระยะเวลาที่ ท.ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกับระยะเวลาที่โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทเข้าด้วยกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1385 เมื่อนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทของ ท. รวมเข้าด้วยแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2558

สัญญากู้ยืมไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยเอาไว้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1272/2501

สัญญากู้ยืมที่มิได้กำหนดดอกเบี้ยไว้ ผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด ถ้าไม่ปรากฎว่าเจ้าหนี้ทวงถามเมื่อไหร่ ศาลให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง

โรงพยาบาลไม่รับรักษาคนไข้ เป็นการละเมิด


คำพิพากษาฎีกาที่ 11332/2555
แพ่ง (มาตรา 420)
พ.ร.บ.สถานพยาบาล (มาตรา 36)

น.พยาบาลเวรของโรงพยาบาล พ. ของจำเลย ปฏิเสธไม่ยอมรับ ก.ซึ่งได้รับอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ชนแผงกั้นเหล็กไว้รักษา ดังนั้น การที่ ก. ได้รับบาดเจ็บจากการที่ ภ. ขับรถจักรยานยนต์ชนแผงเหล็กปากทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก เป็นเหตุให้ ภ.ถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ ส่วน ก. นอนร้องเอะอะโวยวาย
ในลักษณะเจ็บปวดอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุ 10 เมตร ซึ่ง น. พยานจำเลยก็ยอมรับว่าได้แจ้งให้แพทย์เวรทราบ แพทย์เวรบอกว่าคนไข้อาจมีภาวะเสี่ยง การบอบช้ำของสมองและมีโลหิตออกในสมอง แสดงว่า ก. จะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แม้จะไม่ปรากฎบาดแผลร้ายแรงที่มองเห็นจากภายนอก ซึ่งสาเหตุที่ ก. ถึงแก่ความตายได้แก่ กะโหลกศรีษะแตก สมองช่ำจากของแข็งไม่มีคม  ดังนั้น แม้ ม. จะมิได้นำ ก. ส่งโรงพยาบาลอื่นหลังจากออกจากโรงพยาบาล พ. ในทันที โดย ม. นำ ก.ไปถึงโรงพยาบาล ป. ในเวลา 5.30 นาฬิกา แต่ปรากฎว่า ก. ถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งสาเหตุของการล่าช้าดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุให้ก . ถึงแก่ความตายด้วยก็ตาม แต่การที่ น. ปฏิเสธไม่รับ ก. เข้ารับการรักษาดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ ก. ถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของ น. เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล มีหน้าที่ต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้นๆ ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 แต่กลับไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของลูกจ้างดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2558

การแบ่งมรดกระหว่างคู่สมรสกับทายาท

การแบ่งมรดกระหว่างคู่สมรสกับทายาทโดยธรรม

*ถ้าลูก (ผู้สืบสันดานของเจ้ามรดก) ยังมีชีวิตอยู่ หรือ มีผู้รับมรดกแทนที่ ---ภรรยา ได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร ได้เท่ากับลูก

*ถ้าเจ้ามรดกไม่มีลูก แต่พ่อ แม่ ยังมีชีวิตอยู่ หรือเจ้ามรดก ไม่มีลูกแต่มี พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ ---ภรรยารับครึ่งหนึ่งของทรัพย์มรดก

*แต่ถ้า ไม่มีลูก ไม่มีพ่อแม่ มีพี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดา เดียวกันของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีปู่ ย่า ตายาย หรือ ลุง ป้า น้า อา -----ภรรยา รับ  2 ใน 3 ของทรัพย์มรดก

ม.1635

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558

ฎีกา 915/2548

ฎีกา 915/2548


คดีก่อนที่โจทก์ขอให้นำโทษจำคุกของจำเลยซึ่งศาลรอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้นั้น คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 ให้รอกการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี แต่เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 อันเป็นเวลาก่อนที่ศาลในคดีก่อนจะพิพากษาการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้จึงไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำลงภายในกำหนด 2 ปี ที่ศาลรอการลงโทษไว้ จึงไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีดังกล่าวมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ได้เพราะขัดต่อ ป.อ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง การนำโทษจำคุกที่รอกการลงโทษไว้มาบวกได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ฎีกา3021/2544

ฎีกา3021/2544


เจ้าพนักงานตำรวจให้ยามเรียกจำเลยออกมาและให้จำเลยไขกุญแจเปิดเบาะรถจักรยานยนต์ขึ้นพบเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่8 เม็ด ขณะตรวจค้นจำเลยไม่มีอาการวิตกหรือตื่นตระหนก เมื่อพบของกลางก็ปฏิเสธทันทีว่าไม่ใช่ของจำเลย ก่อนเกิดเหตุ ส. บุตรชายสามีใหม่ของจำเลยขอยืมรถจักรยานยนต์ของจำเลยไปและนำมาคืนในเวลา 8.00 นาฬิกา ใกล้เคียงกับเวลาที่เจ้าพนักงานตำรวจได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ซึ่งเป็นเวลาก่อน 9.00 นาฬิกา จำเลยเพิ่งอยู่กับสามีใหม่ก่อนเกิดเหตุเพียง 15 วัน ทั้ง ก. ภรรยาคนแรกของสามีใหม่จำเลยไม่ได้หย่าขาดกันและไป ๆ มา ๆ เพื่อเยี่ยมบุตร และในวันเกิดเหตุก็กลับมาเยี่ยมบุตร กรณีจึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นของจำเลยหรือมีผู้อื่นนำมาซุกซ่อนไว้เพื่อกลั่นแกล้งจำเลยจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

ฎีกา 1768/2543

ฎีกา 1768/2543


ส. ได้ขับรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุ จนถึงเวลาเช้าของวันเกิดเหตุ และก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะติดตามรถยนต์กระบะไปบ้าน ส. เพื่อตรวจค้นและจับกุม ส. ก็ยังขับรถยนต์กระบะโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองได้นั่งอยู่ในรถยนต์กระบะกับ ส. หรือได้เกี่ยวข้องกับรถยนต์กระบะแต่อย่างใด กลับได้ความว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจติดตามไปที่บ้านของ ส. พบจำเลยทั้งสองอยู่ที่บ้านของ ส. แต่ ส. ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะได้หลบหนีไปก่อนจะมีการตรวจค้นและจับกุม ดังนี้ จึงไม่อาจเป็นข้อบ่งชี้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางที่ค้นพบในรถกระบะของจำเลยเป็นของจำเลยทั้งสองแต่อาจเป็นของ ส. ก็เป็นได้ แม้โจทก์มีคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุม แต่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาและโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยทั้งสองจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสอง
ศาลจะสั่งริบเมทแอมเฟตามีนให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 116 ได้ต้องเป็นกรณีที่มีการลงโทษตามมาตรา 89 เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องจึงไม่อาจริบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขได้ แต่การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเป็นความผิด ศาลริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32
ธนบัตรชนิดต่าง ๆ จำนวน 30,000 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้มาโดยการกระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งการริบทรัพย์สินเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18(5) จึงต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวและพิสูจน์ความผิดของจำเลยต่อศาลเสียก่อน เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยถึงการกระทำดังกล่าวในครั้งก่อนโดยตรง เพียงแต่กล่าวพาดพิงว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้นจึงยังไม่เป็นการเพียงพอ ศาลไม่อาจริบเงิน30,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ได้

ฎีกาที่ 2328/2542


ฎีกาที่ 2328/2542

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกเพียงกระทงละ 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกฟ้อง สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่าย แต่พิพากษายืนสำหรับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยจะฎีกาโต้แย้งในปัญหาว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษา ยืนให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีไม่ได้ เพราะเป็นการโต้แย้ง ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จุดที่พบเมทแอมเฟตามีนเป็นบริเวณป่าละเมาะมีทางเดินผ่าน ซึ่งบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ บ้านจำเลย และบุคคลทั่วไปสามารถเดินผ่านไปมาได้และบุคคลที่เดินผ่าน สามารถเข้าไปยังจุดที่พบเมทแอมเฟตามีนซึ่งซ่อนอยู่ใกล้ ๆ ทางเดินได้โดยสะดวกเพราะไม่มีรั้วกั้น แม้สิบตำรวจเอกอ. จะเห็นจำเลยเดินไปข้างบ้านก่อนจะนำสิ่งของมามอบให้แก่สายลับ แต่ก็ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าจำเลยเดินไปด้านหน้าหรือด้านหลังบ้านและ เดินไปไกลเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยจะเดินไปถึง จุดที่พบเมทแอมเฟตามีนหรือไม่สิบตำรวจเอกอ.ไม่เห็นพยานหลักฐานโจทก์ในส่วนนี้ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้...