วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้ให้เช่าซื้อ

ผู้เช่าซื้อ บอกเลิกสัญญาได้ 2 กรณี คือ 1.ผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่างวด 3 งวด ติดๆกัน (ติดๆกัน) 2.ผู้เช่าซื้อทำผิดสัญญาในข้อสัญญาที่สำคัญ มาตรา 574

สิทธิการบอกเลิกสัญญาของผู้เช่าซื้อ

มาตรา 573 ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดๆก็ได้ โดยการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ โดยผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายที่เสียค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ถ้าบอกเลิก แต่ไม่ส่งรถยนต์คืน ไม่ถือว่าเป็นการบอกเลิก เป็นการบอกเลิกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การเช่าช่วง และโอนสิทธิการเช่า

ผู้เช่าจะเอาทรัพย์สินที่เช่าไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วง หรือโอนสิทธิการเช่าไม่ได้ เว้นแต่จะมีข้อตกลงให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิการเช่าได้ ถ้าผู้เช่าฝ่าฝืน ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าได้ มาตรา 544

หลักฐานการเช่า

สัญญาเช่าต้องทำเป็นหนังสือ หรือต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา 538

ผู้เช่าตายสัญญาเช่าระงับ

สัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า เมื่อผู้เช่าตายสัญญาเช่าย่อมระงับไป และไม่เป็นมรดกตกทอดไปยังทายาท แต่สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา และสัญญาเช่าซื้อ ไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัว ตกทอดแก่ทายาท ทั้งสิทธิหน้าที่ความรับผิด

วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ผู้มีสิทธิไถ่ถอนทรัพย์สินที่ขายฝาก

ผู้มีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากตามมาตรา 497 ได้แก่ 1.ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม 2.ผู้รับโอนสิทธินั้น 3.บุคคลซึ่งในสัญญายอมกำหนดไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้ ภรรยาของผู้ขายฝาก ถึงแม้จะจดทะเบียน หรือไม่จด ก็ไม่มีสิทธิไถ่

ผู้ขายฝาก มีสิทธินำที่ดินที่ขายฝากไปทำสัญญาจะซื้อจะชายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4729/2543 จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้แก่ ภ. บิดาโจทก์ ระหว่างที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝาก จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ ต่อมา จำเลยทำสัญญากับ ภ. ว่าไม่ประสงค์จะไถ่ถอนและขอสละสิทธิไถ่ถอน ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ ภ. ถือได้ว่า เป็นการขายขาดที่ดินให้แก่ ภ. โดยทำสัญญากันเอง จึงไม่เกิดผลเป็นสัญญาซื้อขายที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยยังมีสิทธิไถ่ถอนการขายฝากได้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝากอยู่และภายในกำหนดระยะการขายฝาก จำเลยย่อมมีสิทธินำที่ดินไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ได้ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ที่ดินได้

สัญญาขายฝากต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่

สัญญาขายฝากที่ดินที่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ แม้จะเป็นที่ดินมือเปล่า เพราะถือว่าผู้ซื้อฝากที่ดินครอบครองที่ดินแทนผู้ขายฝากเท่านั้น ฎีกาที่ 384/2509 , 838/2538

การรอนสิทธิเป็นไปโดยผลของกฎหมาย

ความรับผิดในการรอนสิทธิเป็นไปโดยผลของกฎหมาย แม้ตามสัญญาไม่ได้ตกลงให้รับผิด ผู้ขายก็ต้องรับผิด ฎีกาที่ 6472/2539

วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อายุความ เช่าซื้อรถยนต์

เรียกค่าเสียหายจากการใช้รถยนต์บุบสลายมีอายุความ 6 เดือน ป.พ.พ. มาตรา 563 เรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถหลังสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ใช้อายุความทั่วไป 10 ปี คดีเช่าซื้อไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยตรง เรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระใช้อายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. 193/33 (6) ฟ้องให้ชำระส่วนที่ขาดทุนโดยมิได้เรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ อายุความ 10 ปี ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ผู้เช่าซื้อไม่คืนรถ ผู้ให้เช่าซื้อจึงชอบที่จะติดตามเอารถคืนในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ไม่มีอายุความ รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบ เพราะถือว่าเป็นการฟ้องขอให้ชำระราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อจนครบตามสัญญา กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ ใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ถ้าอายุความขาดแล้ว ผู้เช่าซื้อสามารถยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ผู้ให้เช่าซื้อได้

เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๕๕

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๕๕ ประกาศระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๕ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นพระราชบัญญัติ ที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายประกอบกับมาตรา ๓ มาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๒ ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ข้อ ๓ ในประกาศนี้ “ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์” หมายความว่า การประกอบกิจการค้า โดยเจ้าของนำเอารถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ของตนออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์หรือว่าจะให้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว “รถยนต์” หมายความว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน หรือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก “รถจักรยานยนต์” หมายความว่า รถที่เดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ หรือกำลังไฟฟ้าและมีล้อไม่เกินสองล้อ ถ้ามีพ่วงข้างมีล้ออีกไม่เกินหนึ่งล้อ และให้หมายความรวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์ด้วย “รถใช้แล้ว” หมายความว่า รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้ว ข้อ ๔ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และจะต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๑) รายละเอียดเกี่ยวกับ ก. ยี่ห้อ รุ่น หมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถัง สภาพของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ว่าเป็นรถใหม่ หรือรถใช้แล้ว และระยะทางที่ได้ใช้แล้ว โดยให้มีหน่วยเป็นกิโลเมตรหรือไมล์รวมทั้งภาระผูกพันของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ (ถ้ามี) ข. ราคาเงินสด จำนวนเงินจอง จำนวนเงินดาวน์ ราคาเงินสดส่วนที่เหลือ อัตราดอกเบี้ยที่เช่าซื้อ จำนวนงวดที่ผ่อนชำระ จำนวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น จำนวนค่าเช่าซื้อที่ผ่อนชำระในแต่ละงวดจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวด เริ่มชำระค่างวดแรกในวันที่ ชำระค่างวดต่อ ๆ ไปภายในวันที่ ค. วิธีคำนวณจำนวนเงินค่าเช่าซื้อ และจำนวนค่าเช่าซื้อ จำนวนดอกเบี้ยที่ชำระจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระในแต่ละงวด (๒) เมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วน รวมทั้งเงินจำนวนอื่นใด ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อตกเป็นของผู้เช่าซื้อทันที และผู้ให้เช่าซื้อจะดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ดังกล่าวให้เป็นชื่อของผู้เช่าซื้อภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อได้รับเอกสารที่จำเป็นสำหรับการจดทะเบียนจากผู้เช่าซื้อครบถ้วน เว้นแต่เป็นกรณีที่มีเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถทำการโอนทะเบียนได้โดยมิใช่เป็นความผิดของผู้ให้เช่าซื้อ หากผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติ ผู้ให้เช่าซื้อยินยอมเสียเบี้ยปรับโดยคำนวณจากมูลค่าเช่าซื้อในอัตราเท่ากับอัตราเบี้ยปรับที่ผู้ให้เช่าซื้อกำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องชำระในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ และถ้าผู้เช่าซื้อต้องดำเนินคดีทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ ผู้ให้เช่าซื้อจะรับภาระค่าธรรมเนียม ค่าทนายความ ตามความเป็นจริง หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีดังกล่าว (๓) ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ชำระเงินค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากร หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ชำระแทนผู้เช่าซื้อไปแล้ว ถ้าผู้ให้เช่าซื้อไม่เคยมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อนำเงินดังกล่าวมาชำระภายในเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และผู้ให้เช่าซื้อประสงค์จะนำเงินค่างวดของผู้เช่าซื้อในงวดต่อมามาหักชำระเงินดังกล่าว ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบ เพื่อให้นำเงินจำนวนนั้นมาชำระ ถ้าผู้เช่าซื้อชำระเงินดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ให้เช่าซื้อจะถือว่าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระเงินงวดนั้นไม่ได้ (๔) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวดสามงวดติด ๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้น ภายในเวลาอย่างน้อยสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ และผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น (๕) เมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้เช่าซื้อ และกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น ก. ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน(ถ้ามี) ทราบ เป็นหนังสือไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อตามอัตราและการคิดคำนวณตาม (๑๐) ข. ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะรับผิดส่วนที่ขาดนั้น เฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูล หรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องมีหนังสือแจ้งชื่อผู้ทำการขาย วัน เวลา สถานที่ที่ทำการขาย ราคาที่ขายได้ และรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาย เพียงเท่าที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัดตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร (ถ้ามี) รวมทั้งจำนวนเงินส่วนเกินที่คืนให้แก่ผู้เช่าซื้อหรือจำนวนเงินที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญา ในกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมให้ผู้เช่าซื้อทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทำการขาย ทั้งนี้ผู้เช่าซื้อจะไม่ได้รับส่วนลดตามอัตราและการคิดคำนวณตาม (๑๐)มูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ตาม ก. และ ข. ให้คำนวณจากเงินค่างวดที่ค้างชำระและเงินค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระที่ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชำระให้กับผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อและให้หมายความรวมถึง เงินค่าปรับ ค่าติดตามทวงถาม และค่าใช้จ่ายอื่นใด ทั้งนี้ เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร (๖) ผู้ให้เช่าซื้อได้จัดให้ผู้เช่าซื้อสามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับประกันของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้โดยตรง (๗) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ในจำนวนหนี้ที่ยังคงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อ โดยผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อตามอัตราและการคิดคำนวณ ตาม (๑๐)ส่วนที่เกินจากมูลหนี้ค้างชำระให้บริษัทประกันภัยจ่ายให้แก่ผู้เช่าซื้อ (๘) ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความและอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหรือการกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อของผู้ให้เช่าซื้อ เนื่องจากมีการบอกเลิกสัญญาทั้งนี้ เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริงเพื่อการดังกล่าว โดยประหยัด ตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร (๙) ผู้ให้เช่าซื้อจะส่งคำบอกกล่าวซึ่งตามกฎหมายหรือตามสัญญากำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือโดยการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่ผู้เช่าซื้อตามที่อยู่ที่ระบุในสัญญาหรือที่อยู่ที่ผู้เช่าซื้อแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือครั้งหลังสุด (๑๐) กรณีที่ผู้เช่าซื้อมีความประสงค์จะขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว โดยไม่ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายงวดตามสัญญาเช่าซื้อ เพื่อปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดแก่ผู้เช่าซื้อในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ โดยให้คิดคำนวณตามมาตรฐานการบัญชีว่าด้วย เรื่อง สัญญาเช่า ตามที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีกำหนดและปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการจัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและกฎหมายอื่น (๑๑) กรณีสัญญากำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องจัดหาผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อตกลงกับผู้เช่าซื้อว่าจะจัดให้มีการทำสัญญาค้ำประกันซึ่งมีคำเตือนสำหรับผู้ค้ำประกันไว้หน้าสัญญาค้ำประกันนั้นโดยมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีหัวเรื่องว่า“คำเตือนสำหรับผู้ค้ำประกัน”ใช้อักษรตัวหนาขนาดไม่เล็กกว่าสี่มิลลิเมตร และอย่างน้อยต้องมีข้อความตามเอกสารแนบท้ายประกาศฉบับนี้โดยมีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และกำหนดข้อสัญญาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกัน มีสาระสำคัญตรงกับคำเตือนดังกล่าว (๑๒) การผิดสัญญาเช่าซื้อเรื่องใด ที่ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อจะต้องเป็นข้อที่ ผู้ให้เช่าซื้อระบุไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดงหรือตัวดำหรือตัวเอน ที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป (๑๓) กรณีผู้ให้เช่าซื้อมีความประสงค์จะนำเงินค่างวดของผู้เช่าซื้อมาหักชำระค่าเบี้ยปรับค่าใช้จ่ายในการทวงถาม ค่าติดตามรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความและอื่น ๆที่เกี่ยวเนื่องด้วยการที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ หรือการกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อของผู้ให้เช่าซื้อ เนื่องจากมีการบอกเลิกสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบเพื่อนำเงินจำนวนนั้นมาชำระ ถ้าผู้เช่าซื้อชำระเงินดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ให้เช่าซื้อจะถือว่าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระเงินงวดนั้นไม่ได้ ข้อ ๕ ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกัน ดังต่อไปนี้ (๑) ข้อสัญญาที่เป็นการผลักภาระให้ผู้เช่าซื้อเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากรหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด เกี่ยวกับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ผู้เช่าซื้อจะเข้าทำสัญญาซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ดังกล่าว (๒) ในกรณีผู้ให้เช่าซื้อจะกำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องชำระเบี้ยปรับกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระ ค่าเช่าซื้อ หรือเงินอื่นใด ผู้ให้เช่าซื้อจะกำหนดเบี้ยปรับเกินอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดีรายย่อย (MINIMUM RETAIL RATE) ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บวกสิบ (MRR + ๑๐) ต่อปี ของจำนวนเงิน ที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระไม่ได้ (๓) ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อเรียกให้ผู้เช่าซื้อเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกัน เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย หรือศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ (๔) ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อให้ครบถ้วนตามสัญญา ในกรณีรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึด ถูกอายัด หรือถูกริบ โดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ เว้นแต่ค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัดตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร (๕) ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระเงินใด ๆ ในกรณีผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และกลับเข้าครอบครองรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ เว้นแต่ค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทวงถาม การติดตามรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อ ค่าทนายความหรือค่าอื่นใด เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ใช้จ่ายไปจริง โดยประหยัด ตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร (๖) ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อรับการโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อหรือรับภาระผูกพันใด ๆ เพิ่มเติมจากสัญญาเช่าซื้อ โดยผู้เช่าซื้อมิได้ยินยอมเป็นหนังสือ บทเฉพาะกาล ข้อ ๖ บรรดาสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้กระทำกับผู้บริโภคตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.๒๕๔๓ ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไป ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ สำเรียง เมฆเกรียงไกร ประธานกรรมการว่าด้วยสัญญา

การซื้อขายที่ดินมือเปล่า

การซื้อขายที่ดินมือเปล่า เช่น ที่ดินที่ยังไม่มีโฉนด นส3 นส3ก สค1 ภบท5 เจ้าของที่ดินมือเปล่ามีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น ไม่มีกรรมสิทธิ์ แต่ถึงเป็นที่ดินมือเปล่าก็เป็นอสังหาริมทรัพย์ การซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ทำตกเป็นโมฆะ แต่เป็นที่ดินมือเปล่าหากส่งมอบกันแล้ว ผู้ซื้อก็ได้สิทธิครอบครองในที่ดินมือเปล่าทันที มาตรา 1377,1378

ครอบครองตามสัญญาจะซื้อจะขาย นานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์

ผู้ซื้อครอบครองที่ดินโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขาย ถือเป็นการครอบครองแทนผู้ขาย ผู้ซื้อครอบครองนานเพียวใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ฎีกาที่ 7490/2541

ทำสัญญาขายฝากกันเอง

ทำสัญญาขายฝากที่ดินกันเอง ตกเป็นโมฆะ ผู้ซื้อได้รับมอบที่ดินไว้ ครอบครองแม้เกิน 10 ปี ผู้ครอบครองจะอ้างอายุความครอบครองปรปักษ์ ตามมาตรา 1382 ไม่ได้ ฎีกาที่ 679/2488

ซื้อขายบ้านอย่างสังหาริมทรัพย์

การซื้อขายบ้าน โดยตกลงรื้อบ้านไป เป็นการซื้อขายอย่างสังหาริมทรัพย์ ไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ฎีกาที่ 3523/2535 ,114/2499

แบบสัญญาซื้อขาย

การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เรือที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป แพ และสัตว์พาหนะ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ (มาตรา 456 วรรค 1) สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิด หรือได้วางมัดจำ หรือชำระหนี้บางส่วนแล้ว จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ (มาตรา 456วรรค 2) สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีราคาสองหมื่นบาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิด หรือได้วางมัดจำ หรือชำระหนี้บางส่วนแล้ว จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ (มาตรา 456 วรรค 3 ประกอบวรรค2)

คำโฆษณาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขาย

ข้อเท็จจริงในบางกรณีถือว่าคำโฆษณาของผู้ขายเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขาย ฎีกาที่ 851/2544

กรรมสิทธิ์รถยนต์โอนเมื่อตกลงซื้อขายและชำระราคาครบถ้วน

การซื้อขายรถยนต์ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตกเป็นของผู้ซื้อเมื่อได้ตกลงซื้อขายและชำระราคาให้แก่ผู้ขายแล้ว แม้จะไม่ได้จดทะเบียนรถยนต์เปลี่ยนเป็นของผู้ซื้อ เพราะทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่หลักฐานแห่งกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย เป็นเพียวหลักฐานที่กำหนดขึ้นเพื่อความสะดวกในการควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น

การริบเงินมัดจำสัญญาที่ตกเป็นโมฆะ

การทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน โดยไม่ทราบว่าที่ดินนั้นเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่สามารถออกโฉนดได้ เป็นความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมตามาตรา 156 สัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ ไม่อาจริบเงินมัดจำตามสัญญาที่ตกเป็นโมฆะได้ ฎีกาที่ 5007/2542

การโอนบ้านที่ปลูกบนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

สิ่งปลูกสร้างบ้านบนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โอนกันได้โดยการส่งมอบ ฎีกาที่ 2334/2519

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การแก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้

ถ้ามีการทำสัญญากู้ยืมเงินกัน แล้วผู้ให้กู้แก้ไขจำนวนเงินให้มีมากขึ้น โดยผู้กู้ไม่รู้เห็นยินยอมด้วยไม่ทำให้หลักฐานการกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมเสียไป ผู้กู้ต้องรับผิดเท่าที่กู้ไปจริง ฎีกาที่ 407/2542 แต่ถ้าผู้กู้เพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญา ผู้ให้กู้ไปกรอกจำนวนเงินมากกว่าที่กู้จริง โดยไม่มีการยินยอมจากผู้กู้ สัญญากู้เป็นเอกสารปลอม ใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมไม่ได้ ผู้กู้ไม่ต้องรับผิด ฎีกาที่ 1539/2548

ไม่บรรลุนิติภาวะรับรองลายพิมพ์นิ้วมือได้

ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือตาม ปพพ.มาตรา 9 ต้องบรรลุนิติภาวะ อายุไม่ถึง 20 ก็รับรองได้

ทำสัญญากู้แทนของหมั้นไม่ได้

ของหมั้น ต้องมีการมอบของกันแล้วจึงจะเรียกว่าของหมั้น จะมาทำเป็นสัญญากู้แทนของหมั้นไม่ได้ ฎีกาที่ 1853/2506

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เงินประกันชีวิต ไม่เป็นมรดก

เงินประกันชีวิต เป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกและเพือให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตาย อันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิตเป็นสิทธิตามสัญญ เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย

หนังสือให้ความยินยอมร้องขอจัดการมรดก

หนังสือให้ความยินยอมในการร้องขอจัดการมรดก              เขียนที่…………............................. วันที่………….เดือน…………..………..พ.ศ………………     โดยที่ข้าพเจ้าผู้มuรายนามดังต่อไปนี้     ๑…………………………………………….    ๒………………………………………… ๓………………………………………….…      เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ  ……….................................    ข้าพเจ้าขอให้ความยินยอมและไม่คัดค้านในการที่…………………………………….…………. ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อศาล     ข้าพเจ้าจึงลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ     ๑.ลงชื่อ…………………………………          ๒.ลงชื่อ…………………………………   ๓.ลงชื่อ…………………………………     

เปรียบเทียบเช่าซื้อ กับ ลิสซิ่ง รถยนต์

สัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อ คือ สัญญาที่เจ้าของเอาทรัพย์ของตนออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิของผู้เช่าโดยเงื่อนไขว่าผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ม.572 วรรคหนึ่ง สัญญาเช่าซื้อถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ตกเป็นโมฆะ ม.572 วรรคสอง สัญญาให้เช่ารถยนต์แบบลิสซิ่ง เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนและเมื่อครบกำหนดเวลา ให้ผู้เช่ามีสิทธิที่จะซื้อรถยนต์นั้นได้ก่อน ไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อ เพราะกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้เช่าซื้อถึงแม้ชำระครบตามสัญญา ฎีกาที่ 491/2546, 991/2548

บัตรประจำตัวประชาชนสูญหายทำอย่างไร

กรณีบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายหรือถูกทำลาย เมื่อบัตรประจำตัวประชาชนหายหรือถูกทำลาย ไม่จำเป็นต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ให้แจ้ง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สำนักทะเบียน ที่ประสงค์จะทำบัตรฯ เพื่อทำบัตรฯ ใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรประจำตัวประชาชนสูญหายหรือถูกทำลาย หลักฐานที่ต้องใช้ 1. ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน 2. หลักฐานที่ทางราชการออกให้ (ถ้ามี) เช่น ใบอนุญาตขับขี่ ใบสุทธิ สำเนาทะเบียนนักเรียน หรือหนังสือเดินทาง 3. กรณีตรวจสอบหลักฐานเดิมไม่พบ ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือไปให้การรับรองด้วย ค่าปรับไม่เกิน 200 บาท ถ้าบัตรประจำตัวประชาชนที่สูญหายหรือถูกทำลายหมดอายุเกิน 60 วัน หรือไปยื่นคำขอมีบัตร ฯ ใหม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรประจำตัวประชาชนสูญหายหรือถูกทำลาย แต่ก็ขอแนะนำให้แจ้งความไว้ก่อนครับ เพื่อป้องกันตัวเองด้วยกรณีมีคนพบเจอ นำไปใช้ในทางไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาในภายหลัง ซึ่งสามารถแจ้งความไว้เป็นหลักฐานได้ทุกสถานีตำรวจที่อยู่ไกล้ครับ

สิทธิของผู้ค้ำประกัน ภายหลังชำระหนี้

ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทน เกิดสิทธิอะไรบ้าง 1.สิทธิไล่เบี้ยเอาต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปเพราะการค้ำประกันลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 693 วรรคแรก 2.รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 693 วรรคสอง 3.ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 694

ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยที่เกินอัตรากฎหมายกำหนด ขอคืนจากผู้ให้กู้ได้มั้ย

หากผู้กู้ชำระดอกเบี้ยที่ผู้ให้กู้เรียกเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดให้แก่ผู้ให้กู้แล้ว จะเรียกคืนไม่ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 3864/2524 จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจของลูกหนี้ จะเรียกคืนหรือนำหักจากต้นเงินไม่ได้

ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 20

การให้กู้ยืมเงินนั้น กฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ให้กู้ คิดดอกเบี้ยเกิน ร้อยละ 15 ต่อปี ถ้ามีการตกลงทำสัญญากู้กันโดยกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่า ร้อยละ 15 ต่อปี ก็ต้องลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ หรือดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ เพราะคิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างที่ผู้กู้ผิดนัด หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปพพ.มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี ปพพ.มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น.... คำพิพากษาฎีกาที่ 261/2516

วันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข่มขืนกระทำชำเรา ยอมความได้หรือไม่

ปัจจุบันตั้งแต่ ปี 2550 เป็นต้นมา กฎหมายเรื่องการข่มขืนได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซึ่งแม้แต่ ชายข่มขืนชาย หญิงข่มขืนหญิง ชายข่มขืนหญิง หญิงข่มขืนชาย สามีข่มขืนภรรยา ภรรยาข่มขืนสามี 555ล้วนแล้วแต่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และกฎหมายแก้ไขใหม่ ยังให้คำนิยาม คำว่า กระทำชำเรา ซึ่งไม่มีในกฎหมายเก่า โดยหมายความรวมถึงการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นด้วย ไม่ใช่ใช้เฉพาะอวัยวะเพศเท่านั้น ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดย การใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง หรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกันต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้น ยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้ หมายเหตุมาตรา 276 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ.แก้ไขเพิ่มเติมปอ. (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 281 การกระทำความผิดตามมาตรา 276 วรรคแรก และมาตรา 278 นั้นถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 เป็นความผิดอันยอมความได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 11065/2554 จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายกดตัวผู้เสียหายลงกับพื้นใช้มือชกที่บริเวณท้องและปากของผู้เสียหาย แล้วจำเลยฉีกกระชากกระโปรงของผู้เสียหายจนขาด ผู้เสียหายร้องให้คนช่วยและมีผู้เข้าช่วยเหลือลักษณะการกระทำของจำเลยยังไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายได้ จึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ แต่การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 อันเป็นความผิดที่รวมการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายได้

รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลัก หรือสูญหาย ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดหรือไม่



สัญญาเช่าซื้อ
                   สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับ ตาม ปพพ.มาตรา 567  ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อ หรือค่างวดรถ  แต่ส่วนใหญ่จะมีการทำสัญญาเช่าซื้อโดยระบุในข้อสัญญา ว่าถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยหรือสูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้นจนครบนั้น มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงได้ตามสมควรแห่งพฤติการณ์และความเสียหาย ตาม ปพพ.มาตรา 383 วรรคแรก (ฎ.948/35)
               
                

การซื้อขาย คำพิพากษาฎีกาที่ 3522/2545

ฏ.3522/2545 ตามมาตรา 456 วรรคสอง ที่ว่า ได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว กฎหมายมุ่งบัญญัติให้ใช้บังคับแก่คู่สัญญาทั้งฝ่ายขายและผู้ซื้อ ดังนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ชำระหนี้ส่วนของตนไปแล้ว ก็ย่อมจะเรียกร้องเอาสิทธิที่ตนจะได้รับจากอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพราะสัญญาซื้อขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน ผู้ขายย่อมมีหนี้ที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ ส่วนผู้ซื้อก็มีหนี้ที่ต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย เมื่อโจทก์ผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าของตนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายผู้ซื้อแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนของตนแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ได้

มัดจำ

มัดจำ คือ สิ่งที่ให้ไว้เป็นหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว หรือเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา - ต้องเป็นสิ่งที่ได้มีการให้กันในวันทำสัญญา หากเป็นทรัพย์สินที่สัญญาว่าจะให้ในวันข้างหน้า หรือในวันอื่น ไม่ใช่มัดจำ (ฎ.513/2538) -มัดจำอาจเป็นเงินหรือสิ่งมีค่าอย่างอื่น ซึ่งมีค่าในตัวเอง(ฎ.747/2544) -มัดจำไม่ใช่การชำระหนี้ล่วงหน้า แต่อาจจะเอามัดจำมาเป็นการชำระหนี้ได้ แต่ต้องเป็นการชำระหนี้เฉพาะงวดสุดท้าย หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปพพ.มาตรา 377

วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ยิงหมูป่าโดนคนตาย

จากข้อเท็จจริง ขาวยิงแดงตายโดยคิดว่าแดงเป็นหมูป่า ซึ่งหลบอยู่หลังพุ่มไม้ แม้ขาวไม่ผิดฐานฆ่าแดงตายโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 เพราะขาวไม่รู้ว่าเป็นแดงแต่เข้าใจว่าเป็นหมูป่า แต่ถ้าการที่ขาวไม่รู้นั้นเกิดขึ้นเพราะความประมาทของขาว ความประมาทอย่างไร คือ หากดูให้ดีก็จะรู้ว่าสิ่งที่อยู่หลังพุ่มไม้เป็นแดง ไม่ใช่หมูป่า เป็นการประมาทไม่ดูให้ดี เช่นนี้ ขาวผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามตรา 291 หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 1.ป.อ มาตรา 59 วรรคสี่ การกระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่เจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ 2.ป.อ มาตรา 62 วรรคสอง ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 59 หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท 3.ป.อ มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ต่างจังหวัดได้แก่ ศาลจังหวัด ที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาก่อนตาย เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ได้แก่ 1.หลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับผู้ตาย เช่นสูติบัตร สำเนาทะเบียนบ้าน 2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง 3.มรณะบัตรของผู้ตาย 4.สำเนาทะเบียนบ้านผู้ตาย 5.หลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์มรดก 6.บัญชีทายาท 7.หนังสือให้ความยินยอมของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก 8.เอกสารการเปลี่ยนชื่อหรือชื่อสกุล (ถ้ามี) ติดต่อทนายเพื่อช่วยเหลือทางด้านการเตรียมเอกสารและการยื่นคำร้อง

การหย่า หนีหนี้ ทำได้หรือไม่

การจดทะเบียนหย่ากันหลอกๆ เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้เอากับทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสินสมรส เป็นการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะ (ฎ.2898/2525) หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปพพ.การแสดงเจตนาลวง มาตรา 155 การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงมิได้ ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562

  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2562 แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 จะให้สิทธิผู้เช่าซื้อในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียเมื่อใดก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้...